top of page

วิธีดูแลผู้ป่วยโรค Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน



โรคหลอดเลือดสมอง-คืออะไร

โรคหลอดเลือดสมองหรือ stroke คือโรคที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตก ทำให้สมองขาดเลือด ส่งผลให้เซลล์สมองตาย ถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ การไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดจึงสำคัญมาก



ปัจจัย-ที่ก่อให้เกิด-โรคหลอดเลือดสมอง-แตก-ตีบ-ตัน

 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ มีดังนี้

  1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้

    • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็เสื่อมตามไปด้วย จะมีไขมันและหินปูนเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ทำให้ช่องทางไหลเวียนของเลือดแคบลง

    • เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง

    • ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ

  2.  ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้

    • ความดันโลหิตสู เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้มากกว่าคนปกติ

    • เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) มากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า

    • ไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้

    • โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเป็นสาเหตุของลิ่มเลือดที่ไปอุดตันในสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้

    • การสูบบุหรี่ นิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็น 3.5 เท่าต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

    • ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง

    • โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง

    • การขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดอ่อนแอลง



การเตรียมพร้อม-ก่อนพา-ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง-stroke- กลับบ้าน

การเตรียมพร้อมก่อนพาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) กลับบ้าน

ก่อนที่จะรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลับบ้าน การเตรียมความพร้อมและความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอาการที่คงที่จากการรักษาและกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลยังต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้านเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ บทความนี้จะเป็นการแนะนำการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น


  1. ขอคำแนะนำเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) จากแพทย์ก่อนกลับบ้าน

    แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของโรค พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และแผนการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงการใช้ยาตามแพทย์สั่ง การทำกายภาพบำบัด และการปฏิบัติตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ

  2. ศึกษาข้อมูลการดูแลอาหารและโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

    ควรจัดเตรียมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมันสูง หรือน้ำตาลสูง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือด  หากผู้ป่วยอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ไม่สามารถทานอาหารได้เอง แนะนำให้ใช้อาหารปั่นที่ให้ทางสายยางแทน

  3. การเตรียมอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

    การดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกที่บ้าน ครอบครัวและผู้ดูแลผู้ป่วยโรค stroke ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและศึกษาวิธีการใช้งานอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อที่ผู้ดูแลสามารถตรวจเช็กอาการและสุขภาพการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยเป็นไปในแนวทางที่ดีได้ เช่น เครื่องมือวัดระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น



การดูแลผู้ป่วย-โรคหลอดเลือดสมอง-ในชีวิตประจำวัน

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในชีวิตประจำวัน

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องใช้ความใส่ใจทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดซ้ำ มาดูวิธีการดูแลที่สำคัญในชีวิตประจำวันดังนี้


  1. การดูแลด้านร่างกาย

    • การออกกำลังกายและกายภาพบำบัด ทำตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น และการเคลื่อนไหว

    • การจัดท่าทางการนอน จัดท่าให้นอนสบาย ป้องกันแผลกดทับ เปลี่ยนท่าบ่อยๆ

    • สังเกตอาการทางกายภาพ ตรวจเช็คสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด และสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ

    • การดูแลผิวหนัง ดูแลผิวให้สะอาด ชุ่มชื้น ป้องกันแผลกดทับ

  2. การดูแลด้านอาหารและโภชนาการ

    เน้นโปรตีนสูงจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว ผัก ผลไม้ และข้าวกล้อง ควบคุมปริมาณน้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารที่มีเกลือและไขมันสูง หากผู้ป่วยอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ไม่สามารถทานอาหารได้เอง แนะนำให้ใช้อาหารปั่นที่ให้ทางสายยางแทน

  3. การดูแลด้านสุขภาพจิตใจ

    การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่นการวางเครื่องใช้ในบ้านให้ผู้ป่วยสามารถเดินหรือสามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก และสมาชิกในครอบครัวควรทำความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้มากที่สุด  เพราะความรักและความเอาใจใส่จากครอบครัว เป็นพลังใจสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น



อุปกรณ์การแพทย์-สำหรับ-ดูแลผู้ป่วย-โรคหลอดเลือดสมอง-stroke

อุปกรณ์การแพทย์ที่เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ที่บ้าน

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านนั้นจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อช่วยในการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มาดูกันว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้างที่ควรมีติดบ้าน


  1. อุปกรณ์ที่ใช้กับผู้ป่วยในชีวิตประจำวัน

    • รถเข็น: นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนที่ได้สะดวกแล้ว รถเข็นบางรุ่นยังมีฟังก์ชันเสริม เช่น ที่เท้าปรับระดับได้ ที่วางแขนที่สามารถถอดออกได้ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย

    • เก้าอี้อาบน้ำ: ควรเลือกเก้าอี้อาบน้ำที่มั่นคง มีที่วางแขน และมีที่วางเท้า เพื่อป้องกันการลื่นล้มระหว่างอาบน้ำ

    • รองเท้ารัดส้น: ช่วยป้องกันเท้าผู้ป่วยจากการเสียดสีและลดความเสี่ยงในการเกิดแผล

    • เข็มขัดพยุงตัว: ใช้พยุงและเสริมความมั่นคงให้ผู้ป่วยเมื่อต้องลุกยืนหรือเดิน ช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล

  2. อุปกรณ์สำหรับคนป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

    • เตียงปรับระดับได้: ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนอิริยาบถได้ง่าย ลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ

    • เครื่องผลิตออกซิเจน: เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการหายใจ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

    • เครื่องดูดเสมหะ: ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับเสมหะได้ด้วยตัวเอง ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนทางการหายใจ

    • เครื่องสั่นปอดอย่างดี: ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเสมหะมาก


หมายเหตุ: ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลทั่วไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล



แหล่งข้อมูลอ้างอิง

บทความจากโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์: ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

บทความจากโรงพยาบาลเมดพาร์ค: โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

บทความจาก กภ. ธาตริพัฒน์ บริสุทธิ์ นักกายภาพ บริษัท ซินไบโอเทค แคร์





Comments


bottom of page