สถานการณ์ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในประเทศไทยเป็นประเด็นที่เป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขเนื่องจากปัจจุบันมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผลการสำรวจระดับนานาชาติชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีอัตราความชุกของคนเป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่าอัตราการเกิดโรคอ้วนในเด็กไทยสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โรคอ้วน (obesity) คืออะไร
โรคอ้วน (obesity) คือ ภาวะที่มีน้ำหนักตัว หรือมีปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไป สาเหตุนั้นมาจากที่ร่างกายได้รับพลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
เกณฑ์ไหนถึงเข้าข่ายอ้วน?
การจะรู้ว่าตัวเราเข้าข่ายในเกณฑ์โรคอ้วนหรือไม่นั้น สามารถใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เป็นตัวกำหนด ท่านสามารถคำนวณค่า BMI ได้เองจาก น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 79 kg ส่วนสูง 155 cm หรือ 1.55 m BMI = 79 / (1.55×1.55) = 32.88 kg/m²
หากมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 kg/m² จะถือว่า “ปกติ”
หากมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 23.0 – 24.9 kg/m² จะถือว่า “น้ำหนักเกิน”
หากมีค่า BMI มากกว่า 25 kg/m² จะถือว่าเป็น “โรคอ้วน”
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน
ปัจจัยทางสรีรวิทยา
กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะอ้วนได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ
การตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์อาจมีความเชื่อว่าการบริโภคอาหารมาก ๆ จะทำให้ทารกคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์ ประกอบกับมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง จึงส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
โรคที่ส่งเสริมให้เกิดโรคอ้วน โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ โรคถุงน้ำรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น
การรับประทานยาบางชนิดที่อาจทำให้น้ำหนักขึ้น เช่น ยาจิตเวช ยากันชัก ยาคุมกำเนิด สเตียรอยด์โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
ปัจจัยทางพฤติกรรม
เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับจากการบริโภคและพลังงานที่ใช้ในกิจกรรมประจำวัน ทำให้เกิดไขมันสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นโรคอ้วน
พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ เช่น โรคกินไม่หยุด (Binge eating disorder)
ผลกระทบจากโรคอ้วน
ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง
ระบบทางเดินหายใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน ไขมันเกาะตับ
ระบบต่อมไร้ท่อและนรีเวช เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
ระบบข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ข้อเสื่อม เกาต์
ระบบผิวหนัง เช่น ติดเชื้อราบริเวณขาหนีบหรือรอยพับของผิวหนัง เส้นเลือดขอด
เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น เต้านม มดลูก/ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่
สุขภาพจิต เช่น รู้สึกเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ภาวะซึมเศร้า
การป้องกันไม่ให้น้ำหนักเกิน
ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกกิจกรรมที่คุณชอบ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิก เพื่อให้คุณได้ออกกำลังกายได้อย่างน้อย วันละ 30 นาที รวมถึงการเล่นเวทเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่จะช่วยให้การเผาผลาญร่างกายดีขึ้น
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสม เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือถั่วต่าง ๆ ลดอาหารแปรรูป อาหารทอด อาหารที่มีน้ำตาลสูง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไม่รับประทานจุกจิก รวมถึงดูฉลากเพื่อควบคุมปริมาณแคลอรี ไขมันและโซเดียมให้เหมาะสม
การดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
การนอนหลับที่เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นให้รู้สึกหิวและลดการควบคุมความอยากอาหาร
การจัดการความเครียด การหาวิธีจัดการความเครียดที่เหมาะสม เช่น การฝึกสมาธิ หรือโยคะ สามารถช่วยลดความอยากอาหารได้
โรคอ้วนเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ การดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยป้องกันและรักษาโรคอ้วนได้
หมายเหตุ: ข้อมูลในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เท่านั้น ไม่ควรถือเป็นคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
บทความจากโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์: อ้วนแล้วไง…ภัยถามหา
บทความจากโรงพยาบาลวิมุต:รู้ทัน...โรคอ้วน โรคอันตรายที่เป็นประตูสู่โรคเรื้อรัง !
บทความจากโรงพยาบาลเมดพาร์ค:โรคอ้วน
บทความจากAmara Clinic:BMI ค่าดัชนีมวลกายที่ต้องลองคำนวณ ก่อนลดน้ำหนัก!
บทความจากโรงพยาบาลเปาโล:โรคอ้วน...ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
Comments